30 Mar 2005

Sometime I Say to a Poem

Sometime I say to a poem
"Not now, can't you see I am bathing !"
But the poem usually doesn't care and quips.

Sometime I say to a poem
"I don't have the strength to writing out another drop of the sun."
And the poem will often respond
By climbing onto a barroom table,
Then lifts its skirt, winks,

Causing the whole sky to fall.


บทนี้เป็นงานของ ฮาฟิซ กวีซูฟีเปอร์เซีย ศตวรรษที่ ๑๔
ยังไม่ได้แปลเป็นไทย ได้แต่วาดรูปและบันทึกไว้
มีนาคม ๔๗

17 Mar 2005

Darkness is Light


Darkness is Light

สิ่งใดทำร้ายเจ้า

สิ่งนั้นนำพรมาสู่เจ้า
ความมืด คือ ประทีป
กรอบเขตแดน คือ การแสวงหา
ข้ากล่าวเช่นนี้
อาจทำให้ดวงแก้วในใจเจ้าแตกสลาย
และมิอาจประสานกลับ
...................................................

**ขยายความ

..ความมืด คือแสงเทียน..อุปมาเหมือนการหลับตานอก ตาในกลับเห็นได้ชัด
หรืออาจตีความขยายท่อนบนคือ ใช้ความมืด ความทุกข์ ความไม่รู้ ความไม่พึงพอใจทั้งหลาย
เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สู่ความเข้าใจและภูมิแห่งแสงสว่าง
ดั่งประทีปเด่นสว่างได้ ก็เพราะมีความมืด


...กรอบและเขตแดน คือการแสวงหา..
เราแต่ละคนล้วนครอบครองอาณาจักรแห่งตัวตน
และสร้างกรอบเขตแคว้นอย่างแน่นหนา
หากไม่แปลงให้เป็นอาณาจักรแห่งการเรียนรู้
กรอบเขตขันธ์ก็ไม่ต่างอะไรกับกรงขังตัวเอง


รูมี่กล่าวเช่นนี้ อาจทำให้ดวงแก้วในใจเจ้าแตกสลาย..ดวงแก้วในความหมายของรูมี่ในที่นี้ คือการเห็น ทัศนะ ความคิดติดยึด

..หากดวงแก้วของใครแตกสลายแล้วก็ยากที่จะประสานกลับดังเดิม..
เมื่อความคิดได้เปิดสู่ความเข้าใจใหม่อีกชุดหนึ่งแล้ว ก็ยากที่จะกลับไปเชื่อในความคิดชุดเก่าได้

... แนวคิดของซูฟี คือ การเปิดหัวใจสู่ความรัก สู่สันติ สู่การไม่แบ่งแยก
ไม่ว่าจะในเรื่องการนับถือศาสนา ชาติ ภาษา
ความเป็นหญิงเป็นชาย ทารกหรือคนชรา
ตลอดจนความต่างของวิถีดำเนินชีวิต
การเข้าถึงพระเจ้าคือการเข้าถึงสิ่งง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

ดังบทกวีชื่อ becoming human ของฮาฟิซ ที่กล่าวว่า
การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น เราสามารถเข้าถึงได้
ด้วยการดูแล เกื้อกูล และเมตตาสรรพชีวิตรอบตัวเรา
ไม่เว้นแม้สัตว์ และพืชพันธุ์ไม้ทุกชนิด
และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการภาวนาไปพร้อมกับลมหายใจ


ครูแม่ส้ม แปล
แปล ๓ มิถุนายน ๒๕๔๖
เพิ่งวาดรูปประกอบ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔

.....................................................

"สถิตสถานใด" Kabir's poem

ค่ำนี้ขอแปลบทนี้ของ กาบีร์ (กวีซูฟีชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำกระแสภักดีโยคะในศตวรรษที่ ๑๔-๑๕)
.......................................................................

โอ ผู้บำเพ็ญตน
ณ สถานใดฤา ที่เจ้าจะค้นพบข้า
จงตรองเถิด ข้าอยู่เคียงท่านแล้ว
ข้ามิได้สถิตอยู่เพียงในอาราม หรือในสุเหร่า
มิได้อยู่เพียงคาบะ* หรือบนยอดเขาไกรลาส*
อีกทั้งมิได้อยู่ในพิธีบูชาใด
มิได้อยู่ในโยคกรรม หรือการจำศีล
หากแม้นเจ้าเป็นผู้แสวงหาที่แท้จริงไซร้
เจ้าย่อมเคยประสบสัมผัสข้า
เจ้าย่อมพบข้าแล้วในชั่วขณะแห่งกาลเวลา
กาบีร์กล่าว "โอ ท่านสาธุ พระเจ้าดำรงอยู่ในลมหายใจของสรรพชีวิต"
..............................................................................
*คาบะ Kaaba คือแท่งหินศักดิ์สิทธิ์ ในเมกกะ
*ยอดเขาไกรลาส คือที่สถิตของพระอิศวร
*สาธุ Sadhu คือนักบวชฮินดูผู้อุทิศตนให้กับการแสวงหาทางหลุดพ้น (โมกษะ)
.............................................................................
ครูส้ม แปล ๓๑ พ.ค.๔๖
จาก Kabir's poems ฉบับของท่านรพินทรนาถ ฐากูร

............................................................................
............................................................................

"ท่านรู้สึกอย่างไรในการเป็นบุรุษเพศ" : ฮาฟีซ

สาวน้อยนางหนึ่งถามข้าว่า
"ท่านรู้สึกอย่างไรในการเป็นบุรุษเพศ ?"
"ข้ามิอาจแน่ใจได้" ข้ากล่าว
นางถามต่อ "หรือท่านมิใช่บุรุษผู้หนึ่ง ?"
ครานี้ข้าตอบ "เพศของข้า ถูกตราว่าเป็นสัตว์ผู้งามสง่า
ซึ่งถูกมนุษย์จูงไปพร้อมสายบังเหียน
และเข้าสู่สนามประลองเพื่อแลกกับรางวัลไร้สาระ
สาวน้อย..เจ้าควรจะถามคำถามที่ดีกว่านี้กับฮาฟิซ
ถามว่าข้ารู้สึกอย่างไร หากว่าข้าคือ หัวใจดวงหนึ่ง
ข้าจะตอบเจ้าว่า สิ่งที่ข้ารู้สึกทั้งหมดคือ"ความรัก"
และข้าค้นพบว่าเขตแดนของหัวใจนั้นไม่สิ้นสุด
ดำรงอยู่ในทุกเพศ ทุกสถาน"
...............................................................
ฮาฟิซ
ครูส้ม แปล
๓๐ พ.ค. ๔๖
..............................................................

คืนกลับสู่มหาสมุทรแห่งวิญญาณ

ค่ำนี้ขอแปลบทกวีของรูมี่บทหนึ่ง จากหนังสือชื่อ "ฉันคือวายุ เธอเป็นอัคนี" ของแอนมารี สคิมเมล ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติ และรวมบทกวีของรูมี่
.........................................................................
ดูซิ ! เมื่อท้องทะเลก่อคลื่น ลูกแล้วลูกเล่า
ปัญญาแห่งนิรันดร์กาล ก็ปรากฏขึ้นด้วย
เสียงคลื่นซัดสาด และแผดร้อง
บอกเล่าที่มา และที่ไป
มหาสมุทรเต็มไปด้วยคลื่นขาว
ทุกหยาดฟองล้วนก่อประกอบร่าง
เป็นรูปนั้น เป็นร่างนี้
หากทุกหยาดร่างแห่งฟองคลื่น
ต้องสดับเสียงสัญญาณจากท้องน้ำ
ให้ม้วนกลับ และหลอมรวม
คืนสู่มหาสมุทรแห่งวิญญาณ
......................................................................
* การก่อเกิดและสลายคืนของฟองคลื่น เป็นความไม่รู้จบ (สังสารวัฏ)
การก่อประกอบร่างของแต่ละเกลียวคลื่น ก็เป็นมายาชั่วขณะ
มนุษย์เราอุปมาดั่งฟองคลื่น ที่ร่ายรำอยู่บนผิวน้ำทะเล
ลูกแล้วลูกแล้ว ซัดสาด ซัดเปลี่ยน ขึ้นแล้วลง มาแล้วไป ไปแล้วม้วนกลับมาใหม่
อีกทั้งเกลียวคลื่นอย่างเรา ๆ ก็ไม่มีอำนาจใด ๆ เหนือกระแสน้ำและสายลม (กรรม)
รูมี่ว่า เราทำได้ก็เพียงตระหนักรู้ ว่ามีปัญญาอันเป็นนิรันดร์ แฝงอยู่ในเกลียวคลื่น
จงหลอมละลาย และคืนกลับสู่ท้องทะเลแห่งจิตวิญญาณ
..............................................................
ครูส้ม แปล
พ.ค. ๒๕๔๖
...............................................................

เงาจันทร์

จงปล่อยให้สายธารานิ่งสงบ
เธอจักได้เห็นหมู่ดารา และจันทร์ฉาย
อันส่องสะท้อนสู่ภายในของชีวิต

รูมี่
..........................................................
* เมื่อน้ำนิ่ง ดวงดาวและดวงจันทร์จึงปรากฏ
เมื่อจิตนิ่ง เงาจันทร์จึงถูกเห็น


ครูส้ม แปล
พ.ค. ๔๖
........................................................

"ฉันได้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน" : ฮาฟีซ

ฉันได้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน
จากพระผู้เป็นเจ้า
จนมิอาจเรียกตัวเองได้อีกต่อไป
ว่าฉันเป็นคริสเตียน เป็นฮินดู เป็นมุสลิม เป็นพุทธ หรือเป็นยิว

ความจริงแท้ได้เผยตัวเองต่อฉันมากมาย
จนฉันมิอาจเรียกตัวเองได้อีกต่อไป
ว่าฉันเป็นชาย เป็นหญิง เป็นเทพ เป็นนางฟ้า หรือกระทั่งเป็นวิญญาณบริสุทธิ์

..เมื่อฮาฟิซได้เป็นมิตรชิดใกล้กับความรักอย่างสมบูรณ์
ความรักมลายกลายเป็นเถ้า
และได้ปลดปล่อยฉันให้เป็นอิสระ
จากความคิดและความรู้ทั้งปวงที่เคยมีมา
.................................................................................................
"ฉันได้เรียนรู้มากมายเหลือเกิน" บทกวีซูฟีของฮาฟีซ
ครูส้ม แปล (พ.ค.๒๕๔๖)
แปลจากหนังสือ The Gift รวมบทกวีซูฟีของฮาฟิซ

...................................................................................................

"เบาสบายในความรื่นรมย์" : รูมี่

ความรักพรากเอาวัตรปฏิบัติของข้าไป
หากเติมเต็มหัวใจข้าด้วยบทกวี
ข้าพยายามจะบอกตัวเองซ้ำ ๆ
ว่าข้าไม่หนักแน่นพอ
ท่านต่างหากที่แกร่งกว่า
แต่แล้วข้าก็ไม่สามารถบอกได้ดังว่า

ข้าจะปรบมือและร่ำร้องบทเพลงละนะ
แม้ว่าข้าจะเคยน่าเคารพ
เคยถือพรหมจรรย์ และแน่วแน่
แต่ใครเล่า จะทานแรงพายุไหว
ใครจะไปจดจำสิ่งเหล่านั้นได้เล่า

ขุนเขาซับเสียงสะท้อนได้ลึกซึ้งฉันใด
ข้าก็สดับสำเนียงของท่านได้ลึกซึ้งปานนั้น
ข้าเป็นเพียงเศษไม้ที่ถูกโยนเข้าไปในไฟของท่าน
ซึ่งมอดไหม้กลายเป็นควันในบัดดล

เมื่อข้ามองท่าน ข้าได้กลายเป็นความว่างเปล่า
ความว่างเปล่านี้เอง ที่งดงามเสียยิ่งกว่าการดำรงอยู่
แม้ความว่างจะได้ทำลายการดำรงอยู่จนสิ้นสูญ
กระนั้น เมื่อความว่างปรากฏ
การดำรงอยู่กลับยิ่งเฟื่องฟู งอกงาม และสรรค์สร้างชีวิตใหม่

ท้องฟ้าเป็นสีคราม
โลกก็เหมือนคนตาบอดซึ่งนั่งยอง ๆ อยู่ข้างถนน
ต่อเมื่อใครผู้ใดเห็นความว่างเปล่าของท่าน
เขาผู้นั้นจักมองทะลุฟ้าสีคราม
และผ่านเลยคนตาบอด
วิญญาณอันยิ่งใหญ่ แฝงกายอยู่ในฝูงชน
เฉกเช่นพระมูฮัมมัด และพระเยซูท่อมไปกลางเมืองใหญ่ที่ซึ่งไม่มีใครรู้จัก

สรรเสริญก็คือสรรเสริญ
คือการสิโรราบแก่ความว่างเปล่า
สรรเสริญดวงตะวัน
ไม่ต่างอะไรกับชื่นชมดวงตาของตัวเอง
แล้วการสรรเสริญมหาสมุทรเล่า
พวกเราจะว่าอย่างไร เจ้าเรือลำน้อย

ก็เดินทางท่องทะเลกันต่อไป
ใครจะรู้ได้ ว่าอยู่หนไหนแล้ว
ขอเพียงอยู่ในอ้อมประคองแห่งท้องน้ำ
ก็นับเป็นโชคอันประเสริฐ
นั่นเท่ากับได้ตื่นขึ้นมาอย่างเต็มอิ่ม

จะโศกเศร้าไปใยให้กับความหลับไหล
มันไม่สำคัญหรอก ว่าเราได้สูญสำนึกไปนานแค่ไหนแล้ว
ถึงเราจะอ่อนไหวเปราะบางไปบ้าง
ไม่เป็นไร ขอเพียงอย่ารู้สึกผิดจนเกินไป

มาสัมผัสความอ่อนโยนที่เคลื่อนอยู่รอบตัวกันดีกว่า
แล้วเบาสบาย..ในความรื่นรมย์
..................................................................
เบาสบายในความรื่นรมย์
บทกวีซูฟี ของ รูมี่
ร่วมกันแปลโดย ณัฐฬส วังวิญญู และ น้าส้ม
เพื่อใช้ในกิจกรรมภาวนาแบบซูฟี : เปิดหัวใจให้รักโลก ก.พ.๔๖

* ความหมายของคำว่า ความรัก ในบทกวีซูฟี คือสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า
..................................................................

"เรื่องราว และ น้ำ" : รูมี่

เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
เปรียบเหมือนน้ำที่เราต้มไว้อาบ
มันนำข่าวสารจากไฟมาสู่ผิว
ทำให้ผิวกับเปลวไฟได้พบกัน
และชำระเราให้สะอาด

แต่น้อยคนนักจักนั่งลงท่ามกลางไฟแห่งตนได้
ดั่งกิ้งก่าหรืออับราฮัม
ส่วนมากต้องการสื่อกลางเชื่อม
ดั่งความอิ่มต้องการขนมปังสักก้อน
ดั่งความงามที่อยู่รายรอบ แต่เราก็ยังต้องเดินเข้าไปในสวนเพื่อสัมผัสงาม

ร่างกายก็เฉกเช่นนั้น
เป็นฉากกำบังที่เผยเพียงแสงบางส่วนของไฟชีวิต
น้ำ ร่างกาย และทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา
ล้วนคือ ”สื่อกลาง” ที่ทั้งอำพรางและเผยแสดงความลับของชีวิต
จงเรียนรู้ และ สำราญกับการอาบความลี้ลับ
ซึ่งบางครั้งเราก็เข้าใจ บางครั้งก็ไม่


“เรื่องราว และน้ำ”
บทหนึ่งจากหนังสือ “มัษนาวี” ของกวีซูฟี ญะลาลุดดิน รูมี
ครูส้ม แปล
แปลจากสำนวนภาษาอังกฤษของ Coleman Barks
....................................................

16 Mar 2005

"อย่าเศร้า" : ดีวานของฮาฟีซ

อย่าจมอยู่ในความเศร้าเลย
แม้ความมหัศจรรย์จากจักรวาลอื่น จะได้เคลื่อนจากเธอไปแล้ว
แต่การบรรเลงยังดำเนินอยู่
ยังคงมีการร่ายรำอยู่เสมอ ภายใต้การร่ายรำที่เธอมองไม่เห็น
......................................................................
ดีวาน(ชุดบทกวี) ของ ฮาฟีซ
ครูส้ม แปล
ก.พ.๔๖

*ฮาฟีซ มีชื่อเต็มว่า Shams-ud-din Muhammad Hafiz
เป็นกวีซูฟีชาวเปอร์เซีย (หลัง Rumi ร้อยปี)
ฮาฟีซ เขียนบทกวีไว้มากมายกว่า 5000 บท
ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน ได้แปลบทกวีของฮาฟีซเป็นภาษาอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 19
แต่ดีวาน(ชุดบทกวี)ของฮาฟีซ เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในตะวันตกผ่านงานของ เกอร์เต
................................................

"ความรักของช่างทอ" : ซาห์ อับดุล ลาทีฟ

สั้น ๆ อีกบทของ ซาห์ อับดุล ลาทีฟ กวีซูฟีในศตวรรษที่ ๑๗

"ดูเหล่าช่างทอสิ
ความรัก ของพวกเขา คือ ความละเอียดประณีต
พวกเขาเรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับความประณีตนั้น
และมีความสุข ทุก ๆ วัน"
.........................................................
ครูส้ม แปล
ก.พ. ๔๖

*ซูฟี จะใช้คำว่า "ความรัก" ในความหมายของสภาวะที่จิตเป็นหนึ่งเดียวด้วย
"ความรัก" ของช่างทอในที่นี้
หมายถึง สภาวะที่จิตเป็นหนึ่งเดียวกับงาน
...........................................................

ภาษิตซูฟี : ให้เข็มดีกว่า

ภาษิตซูฟีบทหนึ่ง กล่าวว่า

"อย่าให้ มีดดาบ แก่ฉันเลย
จงให้ เข็ม ฉันดีกว่า
เพราะมีดดาบนั้น เป็นเครื่องมือแห่งการตัดเฉือนออกเป็นชิ้น ๆ
แต่เข็มนั้น เอาไว้เย็บส่วนที่แยกให้รวมเข้าด้วยกัน"
...................................................

ครูส้ม คัดมาแปล
จาก..ที่ไหนสักที่ จำไม่ได้แล้ว
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
...................................................

"รักแท้ไม่มีในตลาด" : ลาทีฟ

ความรักนั้นอยู่บนหน้าตักของเจ้าเอง
ใยไปเสาะแสวงหาบนตักผู้อื่น
สัญญาณรักนั้นอยู่ในวิญญาณของเจ้า
ใยไม่ศึกษาและใคร่ครวญสู่ภายใน

หากต้องการค้นหารักที่แท้
อย่าไปหาในตลาด



บทกวีของ ซาห์ อับดุล ลาทีฟ กวีซูฟีชาวสินธ์
ครูส้ม แปล
๑๑ ก.พ ๔๖
.........................................

"จะจัดการกับดวงจันทร์อย่างไรดี" : ฮาฟีซ

ขวดไวน์หล่นจากเกวียน
แตกรดทั่วท้องทุ่ง
ค่ำคืนนั้น หมู่มวลแมลงบินวนเวียน
ดูดร่ำ ด่ำดื่ม เมรัยรื่น
เคาะเมล็ดพืชเป็นกลองเพลง
ร่ายรำระบำรอบ
พระองค์ทรงเปรมปรีด์

พลันประทีปแห่งค่ำคืน
ปรากฏขึ้นกลางฟากฟ้า
เจ้าแมลงเมาตัวนั้น
วางกลองบรรเลงลง
งุนงงหันถามเพื่อน
“เราจะจัดการอย่างไรดีกับดวงจันทร์บนท้องฟ้า"

สำหรับฮาฟีซ
คนหมู่ใหญ่ก็เฉกเช่นนี้
เหมือนเจ้าแมลงเมาตัวนั้น
วางกลองหยุดบรรเลง
หันหาคำถามไร้สาระ
.........................................................
บทกวีซูฟี : ดิวานของ ฮาฟิซ
ครูส้ม แปล
๑๓ ก.พ.๔๖
........................................................

"งานสวรรค์" : กาบีร์

แสงจันทร์สาดต้องกายข้า
สุริยัน จันทรา ก็สถิตย์ด้วย
ทว่าดวงตาข้ามืดบอด
จึงมิอาจยล

เสียงกลองแห่งอมตภาพ
ก้องระรัวอยู่ในวิญญาณข้า
ทว่าหูข้ามืดหนวก
จึงมิอาจยิน

กู่ร้องเพื่อ"ตัวข้าและของข้า"
ร้องให้ตายก็สูญเปล่า
เมื่อ "ตัวข้าและของข้า" มลายแล้ว
งานสวรรค์ จึงเริ่มต้น

"งาน" ดังว่าไม่มีประสงค์อื่น
เพียงนำ "ความรู้" มามอบให้
และเมื่อ"ความรู้"ถูกรับแล้ว
"งานสวรรค์" ก็จบลง

ดอกไม้บาน เพื่อกลายผล
เมื่อผลเปล่ง ดอกโรยรา
กลิ่นฉุน อยู่ในกวาง
แต่เจ้าตัวหารู้ไม่
กวางน้อยเดินเล็มหญ้า.
.....................................................
คีตาของ กาบีร์
ครูส้ม แปล ๔ ก.พ. ๔๖
จากสำนวนภาษาอังกฤษของ รพินทรนาถ ฐากูร
...........................................

"ตัวเจ้าคือสวนพฤกษา" : กาบีร์

ไม่ต้องเข้าไปในสวนดอกไม้หรอก เพื่อนเอ๋ย
ตัวเจ้านั้นเอง คือ สวนพฤกษา
เลือกที่นั่งเหมาะ ๆ บนกลีบบัวของเจ้าสิ
แล้วเพ่งพินิจความงามอันนิรันดร์
.....................
บทกวีซูฟี ของ กาบีร์
สมพร ครูกส์ (แม่ส้ม)  แปล ๒ ก.พ. ๔๖
แปลจาก ฉบับภาษาอังกฤษของ รพินทรนาถ ฐากูร



* กาบีร์ (Kabir) เป็นกวีชาวอินเดีย สมัยต้นศตวรรษที่ ๑๕
เกิดในตระกูลฮินดู แต่เติบโตในครอบครัวมุสลิม
เป็นนักคิดสำคัญในด้านจิตวิญญาณของอินเดียในยุคนั้น
แนวคิดของ Kabir มีความเกี่ยวข้องกับซูฟี และ ซิก
......................

"เมื่อข้ามองท่าน" : รูมี่

เมื่อข้ามองท่าน
ข้าได้กลายเป็นความว่างเปล่าไปเสียแล้ว
ความว่างเปล่านี้เอง
ที่งดงามเสียยิ่งกว่าการดำรงอยู่
แม้ความว่างจะได้ทำลายการดำรงอยู่จนสิ้นสูญ
กระนั้น เมื่อความว่างปรากฏ
การดำรงอยู่กลับยิ่งเฟื่องฟู งอกงาม และสรรค์สร้างชีวิตใหม่

รูมี่   


ครูส้ม แปล...................

"นายแห่งเวทย์" : ญะลาลุดิน รูมี่

ท่านโคจรมาจากต่างภพ
จากโพ้นทะเลดาว
จากเวิ้งอวกาศ
พ้นบริสุทธิ์
งามเหนือจินตนาการ
ผู้นำเนื้อแท้แห่งรักมาสู่

ผู้ใดสัมผัสท่าน
ย่อมสัมผัสความแปรเปลี่ยน
โลกียวิสัย แลทุกข์โศก
อันตรธานสิ้นเมื่อท่านปรากฏ
สันติและเบิกบานกันถ้วนทั่ว
ตลอดชาวนาแลราชา
ไพร่ฟ้าแลผู้ปกครอง

ความเมตตาอันน่าพิศวงของท่าน
แปรอกุศลเป็นกุศล
แปรบาปเป็นบุญ

ท่านคือนายแห่งเวทย์
ผู้จุดไฟเมตตา
บนพื้นพิภพ แลนภากาศ
ในมนัส แลวิญญาณ
ตลอดสรรพชีวิต

ด้วยรักแห่งท่าน
สิ่งคู่รวมเป็นหนึ่ง
สิ่งแยกรวมเป็นหนึ่ง
โลกียกรรมพลันศักดิ์สิทธิ์

....................
บทกวีซูฟี ของ ญะลาลุดิน รูมี่
ครูส้ม แปล
๓๑ สิงหาคม ๔๖

(แปลจากฉบับสำนวนของ
Deepak Chopra )
.................